สถาบันพัฒนาความเป็นเลิศ ทางทรัพยากรมนุษย์ดีทีอี
ความเป็นมา
ช่างเชื่อม เป็นอาชีพที่มีความเสี่ยงสูง หากมีความผิดพลาดในชิ้นงาน มีโอกาสส่งผลกระทบต่อชีวิต และ ทรัพย์สินสาธารณะในวงกว้าง หากช่างเชื่อมขาดความรู้ความสามารถ และทักษะในการทำงาน ตามพระราชบัญญัติส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2557 กำหนดให้กลุ่มอาชีพช่างเชื่อม เป็นกลุ่มอาชีพที่มีโอกาสในการสร้างความเสียหาย เป็นอันตรายต่อชีวิต และทรัพย์สินส่วนบุคคลและสาธารณะ ต้องได้รับการรับรองจากศูนย์ประเมินความรู้ความสามารถ โดยกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน หรือ ศูนย์ประเมินความรู้ความสามารถที่ได้รับการรับรอง จากกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ซึ่งจะมีการบังคับใช้ในเร็ว ๆ นี้
การปฏิบัติ
หนังสือรับรองความรู้ความสามารถ ใช้เกณฑ์การพิจารณาซึ่งมีคะแนนรวม 100 คะแนน โดยผู้ขอรับรองความรู้ความสามารถจะต้องได้รับคะแนนการประเมินไม่น้อยกว่าร้อยละ 85 ของคะแนนรวม จึงจะถือว่าผ่านการประเมิน และมีสิทธิได้รับหนังสือรับรองความรู้ความสามารถ
การประเมินเป็นไปตามหลักเกณฑ์ ดังนี้
- ผ่านการทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่ง ชาติ เป็นการประเมินความรู้ความสามารถ ทักษะฝีมือ และทัศนคติในการทำงาน น้ำหนักคะแนนเป็นร้อยละ 50 ของคะแนนรวม
มาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติเป็นข้อกำหนดที่ใช้วัดความรู้ความสามารถ และทักษะฝีมือ รวมทั้งทัศนคติที่มีต่ออาชีพช่างเชื่อม การพิจารณาจากการทดสอบ 2 ส่วน
- ส่วนแรก: ภาคความรู้ ทดสอบความรู้ด้านวิชาการหรือทฤษฎี (เกณฑ์ในการผ่านร้อยละ 70 จึงมีสิทธิ์สอบภาคทักษะ)
- ส่วนที่สอง : ภาคทักษะ(ปฏิบัติ) ทดสอบการเชื่อมชิ้นงานตามมาตรฐานที่กำหนด
- 2. ประสบการณ์ในเรื่องต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง หรือความสำเร็จในการประกอบอาชีพ หรือการทำงาน หรือการฝึกอบรม น้ำหนักคะแนนเป็นร้อยละ 25 ของคะแนนรวม
- 3. คุณลักษณะส่วนบุคคลที่แสดงถึงศักยภาพในการประกอบอาชีพ หรือการทำงานที่มีอยู่ เช่น
- ทักษะในการจัดการเกี่ยวกับการปฏิบัติงาน
- ทักษะเกี่ยวกับสภาพแวดล้อมในการปฏิบัติงาน
- ทักษะในการเรียนรู้เกี่ยวกับสถานที่ทำงาน
- ทักษะในเรื่องของความสัมพันธ์ภายในหน่วยงาน
น้ำหนักคะแนนเป็นร้อยละ 25 ของคะแนนรวม
ขั้นตอนการปฏิบัติเพื่อขอรับหนังสือรับรองความรู้ความสามารถ
ขั้นที่ 1. สมัครและขอเข้ารับการทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ จากสถาบันพัฒนาฝีมือแรงงานภาค หรือศูนย์พัฒนาฝีมือแรงงานจังหวัด หรือศูนย์ทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงาน ที่ได้รับอนุญาตจากกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กระทรวงแรงงาน เมื่อผ่านการสอบให้ดำเนินการต่อในขั้นตอนที่ 2
ขั้นที่ 2. สมัครและขอเข้ารับการประเมินความรู้ความสามารถ จากศูนย์ประเมินความรู้ความ สามารถกลาง กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน หรือศูนย์ประเมินความรู้ความสามารถ ที่ได้รับการรับรองจากกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน
ผู้ขอเข้ารับการประเมินความรู้ความสามารถ เมื่อผ่านการประเมินตามหลักเกณฑ์แล้ว จะได้รับหนังสือรับรองความรู้ความสามารถ และสามารถปฏิบัติงานเชื่อมได้โดยไม่ผิดต่อพระราชบัญญัติหรือกฎหมายที่กำหนด
ผลดีของการใช้มาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ
สำหรับนายจ้าง : สามารถใช้เป็นเครื่องมือในการวัดความรู้ความสามารถของพนักงานช่างเชื่อม ทำให้ทราบว่าพนักงานช่างเชื่อมมีขีดความรู้ความ สามารถ และ ทักษะฝีมือในระดับใด เป็นประโยชน์ในการวางแผนพัฒนา รวมทั้งใช้เป็นเกณฑ์กำหนดค่าตอบแทนตามความสามารถได้ การใช้พนักงานช่างเชื่อมที่ได้มาตรฐาน ส่งผลให้ลดการสูญเสีย และผิดพลาดในการผลิตงานโครงสร้าง สินค้าและบริการ
สำหรับช่างเชื่อม: สามารถทราบขีดจำกัดถึง ข้อดี ข้อด้อยของตนเอง เพื่อนำไปสู่การทบทวน ฝึกฝน และยังสามารถใช้หนังสือรับรองผู้ผ่านการทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงาน ประกอบการขอหนังสืออนุญาตทำงานได้ทั้งในและต่างประเทศ
ทำอย่างไรช่างเชื่อมจึงทดสอบผ่านมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติได้
ภาคความรู้ : เข้ารับการฝึกอบรม ทบทวน ให้เป็นผู้ที่มีความรู้อย่างเพียงพอที่จะเข้าทดสอบในสาขาอาชีพนั้น ๆ
ภาคปฏิบัติ : ฝึกปฏิบัติให้มีความสามารถและทักษะในการเชื่อมชิ้นงานตามที่มาตรฐานกำหนด
สถาบันพัฒนาความเป็นเลิศทางทรัพยากรมนุษย์ดีทีอี มีความยินดีให้คำแนะนำ วิธีการ และ การปฏิบัติแก่สถานประกอบการ ในเรื่องการทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติช่างเชื่อม การประเมินความรู้ความสามารถช่างเชื่อม เพื่อให้เกิดความถูกต้อง ได้มาตรฐาน และเป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด
เกณฑ์การประเมินความรู้ความสามารถ
สถาบันพัฒนาความเป็นเลิศ ทางทรัพยากรมนุษย์ดีทีอี
หน่วยงานสมุทรสาคร121/1-5 หมู่ 12 ต.อ้อมน้อย อ.กระทุ่มแบน จ.สมุทรสาคร 74130
โทร : 0-2420-0078, 0-2420-0559
โทรสาร : 0-2420-3387, 0-2420-9965
หน่วยงานนครปฐม
51 หมู่ 4 ต.ศีรษะทอง อ.นครชัยศรี จ.นครปฐม 73120
โทร : 034-978-124